วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาเซียนในโลกยุคใหม่

โดย ฉัฐชุลี เรืองศิริ

สัญลักษณ์ของอาเซียน เป็นรวงข้าวสีเหลือง 10 มัด หมายถึงการที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่ในพื้นที่วงกลมสีแดง ขอบสีขาวและน้ำเงิน ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพ มีตัวอักษรคำว่า "asean" สีน้ำเงินอยู่ใต้ภาพ อันแสดงถึง ความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน สีทั้งหมดที่ปรากฎในสัญลักษณ์ของอาเซียนเป็นสีสำคัญที่ปรากฎในธงชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ และความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และ สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ (ASEAN) ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดยมีธงอาเซียน ตราสัญลักษณ์อาเซียน และกฏบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียนเดียวกัน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และ ราชอาณาจักรไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งจากเจตน์จำนงต่อมาที่สอดคล้องกันนี้ บูรไนดารุสซาราม ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 สาธารณรัฐสังคมคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 10 ประเทศ


สถานการณ์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะแห่งความตึงเครียดและการเผชิญหน้า มาสู่สภาวะที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคง และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวอย่างของการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีบทบาทและพลังต่อรองในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้มีประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นและมีหลายประเทศในโลกสนใจที่จะเสริมความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในฐานะคู่เจรจา (Dialogue Partner) ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีคู่เจรจา 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย และ 1 กลุ่มประเทศ คือ สหภาพยุโรป รวมทั้ง 1 องค์การระหว่างประเทศ คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program me : UNPP) โดยอาเซียนกับคู่เจรจาเหล่านี้จะมีการปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในลักษณะการประชุมระดับเจ้าหน้าที่และการประชุมระดับรัฐมนตรี
ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมาโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อาเซียนได้พัฒนาตนเองจนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จในหลายด้าน เป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของประเทศในภูมิภาค การช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นต้นในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ มากมาย อาทิ โรคระบาด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พิบัติภัยธรรมชาติ เช่น คลื่นยักษ์สึนามิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงที่อาเซียนอาจจะไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น อาเซียนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้รับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นให้ได้ในเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงร่นเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี 2558 โดยจะเป็นสมาคมที่วางรากฐานของประชาคมอาเซียนด้วย 3 เสาหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ

     1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน        มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุมคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่งคง

    2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน


    3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น